Sunday, December 9, 2012

รัฐธรรมนูญแห่งปวงชนชาวไทย


มาถึงแล้ว มาถึงแล้ว~~~~ กับอีกวันสำคัญของไทยเราครับ วันรัฐธรรมนูญ วันนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญเพราะเป็นวันที่เราได้กฏหมายอันเป็นกฏหมายแห่งประชาธิปไตยในการปกครองประเทศชาติร่วมกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกและตระหนักถึงความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของรัฐธรรมนูญกันก่อนนะครับ

( ภาพโดย คุณ krumuti จาก Yenta4 )

รัฐธรรมนูญ หมายถึง........?
รัฐธรรมนูญ หมายถึง รัฐธรรมที่ไม่แบน! ( ไร้สาระทุกสถานการณ์ - -" ) ล้อเล่นครับ เอาจริงๆล่ะครับ
รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ


วันรัฐธรรมนูญมีความเป็นมาอย่างไรเอ่ย.......?

เริ่มต้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศโดยสมบูรณ์

ซึ่งต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงวันที่เราชาวไทยได้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวรมา ทางการเลยกำหนดให้ทุกวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนล่้ะ?

- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

- หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้แก้ไขปัญหาโดยปลดข้าราชการออก ทำให้เหล่าข้าราชการที่ถูกปลดออกเกิดความไม่พอใจ

- อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองอย่างฉับพลัน

- รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร

           จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยก่อการปฏิวัติ และเมื่อคณะปฏิวัติได้่ก่อการปฏิวัติสำเร็จ ก็ได้คณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเด และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ มาเป็นผู้บริหารประเทศ
          วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ

- พระมหากษัตริย์
       
- สภาผู้แทนราษฎร
       
- คณะกรรมการราษฎร
       
- ศาล

          ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ยังคงถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ควรคงถาวรไว้และมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ สำหรับการปฏิบัติราชการต่างๆของกษัตริย์นั้น จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้


ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญมีมากี่ฉบับแล้ว?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 18 ฉบับครับ
รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของไทย มีชื่อว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" จากนั้น ราชอาณาจักรไทย ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาตามลำดับซึ่งฉบับปัจจุบัน ( ที่ยังคงตกลงกันไม่เสร็จ ^w^" ) คือ

- รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (24 สิงหาคม 2550 - ปัจจุบัน)

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว มีการเผยแพร่ให้ประชาชนได้ลงประชามติด้วยในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบ และร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ

แต่ทว่ารัฐธรรมนูญนี้นั้นดันร่างในช่วงที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นการสร้างสนามรบระหว่างสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่คัดค้าน นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆอีกไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การที่ คมช. ผูกขาดการสรรหาสมาชิก สสร. และในเนื้อหาสาระของร่างก็มีประเด็น เช่น มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนมาจากการแต่งตั้ง รวมถึงการนิรโทษกรรม คมช. เองสำหรับการก่อรัฐประหาร ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เป็นเนืองๆในปัจจุบัน

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไขสองครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดยมีประเด็นที่แก้ไขคือ ระบบการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 มาตรา 93-98) และข้อกำหนดในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มาตรา 190)

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีสาระสำคัญอะไรที่เราควรจะรู้บ้าง?
ครับ สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้นมีทั้งหมด 309 มาตราครับ โดยมีเนื้อหาสาระตามหมวดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

- คำปรารภ
    
- หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 1-7)
    
- หมวด 2 พระมหากษัตริย์ (มาตรา 8-25)
    
- หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (มาตรา 26-69)
    
- หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย (มาตรา 70-74)
    
- หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 75-87)
    
- หมวด 6 รัฐสภา (มาตรา 88-162)
    
- หมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน (มาตรา 163-165)
    
- หมวด 8 การเงิน การคลัง และงบประมาณ (มาตรา 166-170)
    
- หมวด 9 คณะรัฐมนตรี (มาตรา 171-196)
    
- หมวด 10 ศาล (มาตรา 197-228)
    
- หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 229-258)
   
- หมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (มาตรา 259-278)
    
- หมวด 13 จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 279-280)
    
- หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 281-290)

- หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา 291)
    
- บทเฉพาะกาล (มาตรา 292-309)


( ภาพโดย คุณ สิทธิศักดิ์ จาก Pattayadaily News )

วันรัฐธรรมนูญมีกิจกรรมอะไรบ้าง?
มีการจัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทุกปีสืบมา งานนี้เป็นงานพระราชพิธีและรัฐพิธีร่วมกัน และมีพิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และจะมีการประดับธงชาติบริเวณอาคารบ้านเรือน 

นอกจานี้ยังมีการจัดงาน "เด็กไทย รักรัฐสภา" พร้อมเปิดโอกาสให้ตัวแทนเยาวชนได้สัมภาษณ์ และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

Credit:
data by

picture by